การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงโดยไม่ใช้อ๊อกซิเจน‬ จ้า

การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงโดยไม่ใช้อ๊อกซิเจน‬ จ้า


มีหลายคำถามที่เจอบ่อย ยิ่งเวลาที่ผมนั่งขายหน้าร้านตอนเอากุ้งไปลงขายตามงาน หนึ่งในคำถามนั้นคือ “ไม่มีอ๊อกเลี้ยงได้มั้ย?” ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตามที่ท่านไม่หาอ๊อกมาใส่ แต่คำตอบก็คือ “เลี้ยงได้และมีหลายวิธีครับ” โชคดีที่กุ้งก้ามแดงนั้นอาศัยอยู่ได้แม้ในน้ำจะอ๊อกซิเจนต่ำนอกจากนั้น ยังมีนิสัยที่ชอบปีนปายอะไรก็ตามที่อยู่ในบ่อขึ้นมารับอ๊อกซิเจนบริสุทธิ์จากอากาศได้โดยตรง หลักการเลี้ยงลักษณะนี้มีหลายรูปแบบ เอาไปปรับใช้กับพื้นที่ที่เรามี เลี้้ยงให้ง่ายที่สุดและสะดวกที่สุดเข้าไว้ จะอธิบายไว้เป็นข้อๆนะครับ

1. เลี้ยงใน ตู้ปลา อ่าง กาละมัง กระบะพลาสติก

การเลี้ยงแบบนี้จำเป็นต้องมีกิ่งไม้หรือก้อนหินให้กุ้งปีนได้ แต่ก็ต้องระวังเรื่องกุ้งปีนหนีออกให้ดี ภาชนะต้องปากกว้างให้มีลมพัดผ่านผิวน้ำได้จะดีมาก
ข้อดี
♦ เหมาะสำหรับคนมีพื้นที่น้อย
♦ สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย
♦ หาวัสดุเหลือใช้ในบ้านเลี้ยงได้ ต้นทุนต่ำ
ข้อเสีย
♦ สำคัญที่สุดคือดูแลเรื่องน้ำให้ดี อย่าให้น้ำเน่า
♦ ไม่เหมาะกับช่วงอากาศหนาว อุณหภูมิ เปลี่ยนแปลงบ่อยในรอบวัน
♦ โตช้า ไม่มีสารอาหารในน้ำโดยธรรมชาติ
♦ หากเปลี่ยนน้ำบ่อยเกินไปกุ้งจะตายเพราะลอกคราบไม่ผ่าน เนื่องจากสะสมแร่ธาตุไม่ทัน ทางที่ดีควรมีภาชนะรองน้ำเลี้ยงเก่าเอาไปตากแดด 1สัปดาห์สามารถรีไซเคิลมาเลี้ยงใหม่ได้ จะมีแพลงตอนเล็กๆเกิดด้วย
♦ เลี้ยงได้จำนวนน้อย

2. เลี้ยงในบ่อปูน บ่อผ้ายาง

ควรเลี้ยงแบบโดนแสงแดด จำลองธรรมชาติ ควรใส่ดินปลูกบัวลงไป หรือหากมีดินเหนียวมั่นใจว่าปลอดสารพิษแถวบ้านก็ใช้ได้ ระวังยาฆ่าปูในนาข้าว ในบ่อใส่สาหร่ายไว้ สแลน หรือตาข่าย ไว้ให้กุ้งปีน
ข้อดี
♦ ง่ายต่อการสังเกตการเจริญเติบโต การลอกคราบ
♦ หากต้องการให้น้ำใสโดยไม่ใส่ดิน สามารถใช้มูลไส้เดือนกับเศษฟาง หรือหญ้าแห้งแทนได้ ช่วยให้เกิดแพลงตอนในน้ำ
♦ ง่ายต่อการจับขึ้น
♦ จำลองรูปแบบนาข้าว หรือใส่ต้นกก ผักบุ้ง ไม้น้ำต่างๆ จอกแหนมีได้นิดหน่อยแต่อย่าปิดผิวน้ำหมด กุ้งจะอยู่รอดปลอดภัยไม่ต่างอะไรกับใส่อ๊อก
♦ หากไม่ต้องการเปลี่ยนน้ำบ่อย สามารถใส่จุลินทรีย์ไปช่วยกินแอมโมเนีย ของเสียตามพื้นบ่อได้
ข้อเสีย
♦ บ่อผ้ายางถ้าบางไปหรือมีรอยย่นอาจขาดได้ง่าย จากุ้งแทะ
♦ ควรหาวิธีแก้เมื่อฝนตกน้ำล้น ไม่ควรให้ระดับน้ำเกิน20cm ใช้ตาข่ายไนล่อนกั้นไว้ก็ได้


3. เลี้ยงในบ่อดินหรือนาข้าว


กุ้งสามารถปีนขอบบ่อหรือต้นข้าวมารับอ๊อกซิเจนได้ง่าย
ข้อดี
♦ กุ้งได้รับสารอาหารและแร่ธาตุครบถ้วนทำให้โตไว
♦  เลี้ยงได้จำนวนที่มาก
♦ เราไม่ให้อาหารมันก็อยู่ได้
♦ กุ้งรับแสงแดด จะได้วิตามินD เพิ่มประสิทธิภาพของแคลเซี่ยมที่ได้รับ
ข้อเสีย
♦ ต้องกำจัดปลาอันเป็นศัตรูกุ้งให้หมดซึ่งอาจจะเป็นเรื่องที่ยากลำบากนอกจากนั้นต้องกั้นขอบบ่อด้วยตาข่ายไนล่อนไว้กันกุ้งหนีและกันปลาหมอ ปลาไหล ปลาช่อน จากแหล่งน้ำใกล้เคียงอพยพลงบ่อเรา
♦ อีกหนึ่งศัตรูคือนก พื้นที่เล็กๆหรือบ่อน้ำลึกไม่ค่อยมีปัญหาหากแถวนั้นไม่มีพวกนกกาน้ำ ส่วนมากจะมีผลกับทุ่งนาเพราะน้ำตื้น เจ้านกกระยางชอบอยู่แล้ว ควรหาตาข่ายกันนกคลุมไปเลย หากคิดจะเลี้ยงเยอะต้องลงทุนส่วนนี้
♦ ศัตรูกุ้งที่น่ากลัวสุดคือคนนี่แหละครับ โดนลักไปหลายเจ้าละ
♦ ยิ่งบ่อขนาดใหญ่หรือทุ่งนา ต้องสูบน้ำออกหมดเพื่อจับ ใช้แรงงานมาก
♦ บ่อที่ให้อาหารมากเกินไป พื้นบ่อจะเป็นเลนเน่าเสีย อาจจะมีปัญหาปรสิตและโปรโตซัว (ทำให้กุ้งหางเป็นแผลติดเชื้อ หางเลยพอง) ตามมา หากชอบแนวนี้ควรศึกษาเรื่องการจัดการบ่อดิน


4. เลี้ยงในกระชัง

การเลี้ยงในกระชังก็มีการแพร่หลาย นิยมทำกันในแหล่งน้ำที่ลึก หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่
ข้อดี
♦ แยกไซส์เลี้ยงขุนไซส์ได้ง่าย
♦ น้ำถ่ายเทตลอด มีแร่ธาตุจากน้ำธรรมชาติ
♦ สะดวกในการจัดการในบ่อใหญ่ๆ เมื่อตอนจับขึ้นแค่ยกกระชังไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ
ข้อเสีย
♦ ปลาคือศัตรูตัวฉกาจ ควรหาวิธีป้องกันปลาช่อนหรือชะโดกัดกระชังหรือกระโดดเข้า
♦ ควรหาวิธีป้องกันกระชังขาด
♦ มั่นใจว่าแหล่งน้ำค่าphพอเหมาะไม่มีสารพิษจากโรงงานหรือยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง
สุดท้ายแล้วอยากจะบอกว่าในการเลี้ยงพื้นที่เล็กการมีเครื่องให้อ๊อกซิเจน ย่อมดีกว่า สามารถเลี้ยงกุ้งได้ในปริมาณที่หนาแน่นกว่า โตไว ลอกคราบผ่านง่าย

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.