สูตรสำเร็จเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน…สร้างรายได้ปีละล้าน!!

สูตรสำเร็จเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน…สร้างรายได้ปีละล้าน!!


“เกษตรกร” จัดเป็นอาชีพนักผลิตที่ทรงภูมิควรแก่การยกย่องสรรเสริญ เพราะเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบด้านอาหารรายใหญ่ จึงได้ชื่อว่ากระดูกสันหลังของชาติ แต่การจะเป็นกระดูกสันหลังที่แข็งแกร่ง จำเป็นจะต้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน อันจะนำไปสู่การล่มสลายกลายเป็นคนง่อยหรืออัมพาต จนสุดท้ายต้องออกมาปิดถนน เรียกร้องหาความยุติธรรมจากผู้ถืออำนาจรัฐ เมื่อบทเรียนก็มีให้เห็นปีแล้วปีเล่า ทั้งข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ไฉนเลยเกษตรกรจึงไม่หลาบจำ ทำไมไม่หันมาสร้างภูมิคุ้มกันโดยการพึ่งพาตัวเอง ไม่หวังพึ่งรัฐ และให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างคุณภาพมากกว่าการผลิตที่เน้นปริมาณ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง และเลือกขายได้
ดังตัวอย่าง คุณการีม เหมศิริ บ้านเลขที่ 11/13 หมู่ที่ 6 แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร (โทร. 08-9679-6318) เกษตรกรคนเก่งแห่งเมืองหลวง ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน หยัดยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง สร้างรายได้ปีละ 1.6-1.7 ล้านบาทเลยทีเดียว
เขตหนองจอกอยู่ในส่วนกรุงเทพฯ ชั้นนอก ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังคงยึดอาชีพการทำเกษตร ดังนั้นสองข้างทางจึงเต็มไปด้วยแมกไม้ และนาข้าวที่เขียวขจี ประหนึ่งยืนอยู่ท่ามกลางชุมชนชนบทไกลปืนเที่ยง หลายชุมชนที่นี่ยังคงยึดอาชีพเกษตรในการหล่อเลี้ยงชีวิต และเกษตรกรที่นี่อาจได้เปรียบตรงที่เป็นแหล่งผลิตที่อยู่ใกล้กับตลาดผู้บริโภคแหล่งใหญ่ คือกรุงเทพฯชั้นใน สินค้าเกษตรหลากหลายชนิดจึงมีพ่อค้าแม้ค้ามาจับจองตั้งแต่ยังไม่ถึงวันเก็บเกี่ยว รวมถึงปลาดุกในบ่อของการีมด้วย เพียงแค่เอ่ยปากว่า “จะขาย” พ่อค้าแม่ขายต่างก็มาเข้าคิว นำอวนและลูกจ้างมาจับปลาไปจากบ่อพร้อมกับจ่ายเงินสดเป็นปึก ๆ เป็นค่าตอบแทน ให้การีมได้แย้มยิ้มหน้าบาน
คุณการีม ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ตัวเองไปทำงานอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียในตำแหล่งโอเปอเรเตอร์ เมื่อถึงกำหนดลาพักร้อนจึงลากลับมาเมืองไทย พอกลับมาถึงบ้านมีความรู้สึกว่าตนเองนั่ง ๆ นอน ๆ อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ จึงไปช่วยงานน้าชายซึ่งเลี้ยงปลาดุกอยู่
“ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่กลับมาพักที่บ้านก็คลุกคลีอยู่ในบ่อปลาดุกจนกระทั่งเกิดความคิดว่า หลังจากหมดสัญญาที่ไปทำงานยังซาอุฯ จะกลับมายึดอาชีพเกษตร เพราะจะได้อยู่กับครอบครัว อีกอย่างหากเรารู้จักการจัดการและดูแลกิจการให้ดี ๆ การทำเกษตรในบ้านราก็มีรายได้ไม่ต่างจากการไปทำงานที่เมืองนอกเลย”
ภายหลังจากหมดสิ้นสัญญาจ้างงานจากประเทศซาอุดิอาระเบีย การีมก็กลับมาสร้างฝันของตนเองให้เป็นจริง โดยนำเงินที่เก็บสะสมได้จากการทำงานไปซื้อที่ดิน เพื่อขุดบ่อเลี้ยงปลา และพื้นที่นอกเหนือจากบ่อ ก็ได้ปลูกผลหมากรากไม้ เช่น มะม่วง มะยงชิด กล้วย ขนุน ฯลฯ ไว้อย่างหลากหลาย
“ตอนแรกผมขุดเพียงบ่อเดียว พื้นที่ไม่กว้างมากเพราะอยากทดลองเลี้ยงดูก่อน โดยในชุดแรกปล่อยลูกปลาทั้งหมด 1 แสนตัว และใช้อาหารคืออาหารเม็ด ซึ่งผลปรากฏว่าการใช้อาหารเม็ดนั้นต้นทุนจะสูงมากและอัตราการแลกเนื้อจะได้น้อยกว่าอาหารสด ภายหลังจากจับปลารอบแรกเสร็จสิ้น ผมก็มานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ต้นทุนการลี้ยงปลาดุกของเราถูกลง และได้ปลาตัวโต น้ำหนักดี ซึ่งตอนนั้นประจวบเหมาะกับทาง บ.บริษัทซีพีได้เปิดประมูลโครงไก่ ผมก็ไปประมูลเพื่อนำมาบดเป็นอาหารให้ปลาดุก และโชคดีที่ผมผ่านการประมูล ทำให้ไม่ต้องกังวลในเรื่องของอาหารปลาอีกต่อไป”
ปัจจุบันการีมได้ขยายบ่อเลี้ยงปลาทั้งหมดเป็นจำนวน 5 บ่อ รวมพื้นที่การเลี้ยงปลาทั้งหมด 14 ไร่ โดยการีมอธิบายการเลี้ยงปลาดุกให้ฟังอย่างละเอียดว่า ภายหลังจากการขุดบ่อเรียบร้อยแล้ว (บ่อใหม่) หรือจับปลาออกจากบ่อเรียบร้อยแล้ว(บ่อเก่า) เราจะต้องตากดินอย่างน้อย 1 เดือน จากนั้นจึงผันน้ำเข้าให้เต็มบ่อแล้วจึงเติมปูนขาว 12 ลูก และ ซีโอไรท์ 5 ลูก (ขนาดบ่อ 4 ไร่ ลึก 1.5 เมตร) และวัดค่า pH โดยค่า pH ที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของปลาดุกคือ 4.5 จากนั้นจึงปล่อยลูกปลาดุกลงในบ่อ 1 แสนตัว โดยการเลี้ยงนั้น ในระยะ 1 เดือนแรกจะใช้อาหารเม็ดสลับกับอาหารสด (โครงไก่บดละเอียด) และภายหลังจากเดือนที่สองเป็นต้นไปจะให้อาหารสดเพียงอย่างเดียว โดยปลา 1 แสนตัว หากเป็นปลาอายุตั้งแต่ 2-5 เดือนจะกินอาหารวันละ 500 กิโลกรัม คิดเป็นต้นทุนค่าอาหารบ่อละ 3,000 บาท รวมจำนวน 5 บ่อคิดเป็นต้นทุนค่าอาหารวันละ 15,000 บาท
ทั้งนี้ในการเลี้ยงปลาดุกนั้นจะต้องใช้เวลาในการเลี้ยง 5 เดือนจึงจะสามารถจับขายได้ โดยปลาดุก 1 บ่อ (1 แสนตัว) จะให้น้ำหนักประมาณ 15 ตัน (1,5000 กิโลกรัม) โดยราคารับซื้อหน้าบ่อจากพ่อค้าในปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 46 บาท เมื่อหักลบต้นทุนการผลิตแล้ว ในการเลี้ยงปลาแต่ละรอบจะได้กำไรประมาณ 160,000 -170,000 บาท และใน 1 ปีจะสามารถเลี้ยงได้ 2 รอบ/บ่อ
คุณการีมยังอธิบายอีกว่า อุปสรรคในการเลี้ยงปลาดุกก็คือต้นทุนสูง ถ้าเราจัดการบริหารไม่ดีก็จะไม่มีกำไรเกิดขึ้น ในบางรายแม้ปลาดุกจะได้ราคาดีแต่ระบบการจัดการไม่ดีก็มีเหตุให้ต้องหยุดเลี้ยงไปก็มี เนื่องจากมองไม่เห็นกำไร นอกจากอุปสรรคในเรื่องต้นทุนการผลิตแล้วในเรื่องของโรคก็สำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเกิดโรคดีซ่าน ซึ่งจะเป็นมากในช่วงหน้าหนาว โดยลักษณะอาการคือปากเปื่อย ตัวเปื่อย หางเปื่อย โรคชนิดนี้หากเป็นแล้วจะเป็นโรคร้ายแรงและทำให้ปลาตายยกบ่อได้ วิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรคนี้คือหมั่นสังเกตน้ำไม่ให้น้ำเสีย คือมีสีเขียวเข้มจัดเกินไป หากน้ำมีสีเข้มจัดควรผันน้ำใหม่เข้ามาเพิ่มในบ่อและเติมซีโอไรท์เพื่อปรับคุณภาพน้ำลงไปประมาณ 10 ลูก
และหากสังเกตเห็นว่าปลากำลังเริ่มเป็นโรคให้ใช้ยา ชื่อสามัญ โคไมซิน คลุกกับอาหารเม็ดหว่านให้ปลากินจนปลาหายขาดจากโรค จึงให้อาหารสดตามปกติ นอกจากนี้อุปสรรคอีกอย่างคือในเรื่องของภัยธรรมชาติ เช่นปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ปลาในบ่อก็ออกไปหมดเช่นกัน ในรอบการเลี้ยงรอบนั้นขาดทุนกว่า 3 ล้านบาท แต่ก็ยังโชคดีที่ธนาคารได้พักชำระหนี้ให้ระยะหนึ่ง จึงทำให้ผมสามารถฟื้นตัวได้อีกครั้ง และอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ผมอยากฝากไว้เป็นแนวคิดกับคนที่คิดจะเลี้ยงปลาก็คือ “ลูกจ้าง” ต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้ ไม่เช่นนั้นตกกลางคืนคนงานเหล่านี้ก็จะขโมยปลาเราไปขาย ซึ่งผมก็เคยประสบเหตุดังกล่าวมาเช่นกัน จึงทำให้ปัจจุบันต้องลงมาทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ถึงจะเหนื่อยหน่อย ถ้ามันคุ้มค่าเหนื่อยก็ต้องลงมือทำด้วยตัวเองครับดีกว่าปล่อยให้เขามาโกงเรา” คุณการีม กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.